ประวัติความเป็นมา
คณะวิทยาการจัดการ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2527 เป็นส่วนราชการของวิทยาลัยครูเชียงรายตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 โดยเรียกชื่อว่า “คณะวิชาวิทยาการจัดการ” โดยตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ได้แบ่งส่วนราชการในคณะวิชาวิทยาการจัดการออกเป็น 5 ภาควิชา ได้แก่ภาควิชาการเงินและการบัญชี ภาควิชาการตลาด ภาควิชาการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ การวิชาบริหารธุรกิจและสหกรณ์ และภาควิชาเศรษฐศาสตร์
ในระยะแรกมีอาจารย์ส่วนใหญ่ย้ายมาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยเปิดสอนระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี วิชาเอกบริหารธุรกิจ วิชาเอกธุรกิจศึกษา และวิชาเอกเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ต่อมาได้เปิดสอนวิชาเอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว วิชาเอกบริหารธุรกิจ แขนงวิชาการบัญชี แขนงวิชาการตลาด แขนงวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ แขนงวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และเปิดสอนวิชาเอกนิเทศศาสตร์
ปี พ.ศ.2538 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 นับแต่นั้นเป็นต้นมา คณะวิชาวิทยาการจัดการ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะวิทยาการจัดการ” และปรับเปลี่ยนส่วนการแบ่งส่วนราชการในคณะจากภาควิชาเป็นโปรแกรมวิชา โดยประกอบด้วย 3 โปรแกรมวิชา ได้แก่ โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ (การบัญชี การตลาด การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ) โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ และโปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ปี พ.ศ.2547 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ทำให้สถาบันราชภัฏเชียงราย เปลี่ยนสถานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย” และคณะวิทยาการจัดการ แบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานคณบดีและโปรแกรมวิชาต่างๆ และในปีดังกล่าวได้เปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทั่วไป
ในช่วงปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา คณะวิทยาการจัดการ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในหลายสาขาวิชา ได้แก่ ปี พ.ศ.2550 เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต แขนงวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ปี พ.ศ.2552 เปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ปี พ.ศ.2555 เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ ปี พ.ศ.2558 เปิดสอนหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดิจิทัลมัลติมีเดีย และหลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ และในปี พ.ศ.2560 เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต แขนงวิชาการจัดการการค้าสมัยใหม่ ซึ่งโดยรวมแล้วในปัจจุบันคณะวิทยาการจัดการ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 9 โปรแกรมวิชา และระดับบัณฑิตศึกษา 3 หลักสูตร ดังนี้
· ระดับปริญญาตรี
· หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) สาขาวิชาบริหารธุรกิจ
· แขนงวิชาการจัดการ
· แขนงวิชาการตลาด
· แขนงวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์
· แขนงวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ
· แขนงวิชาการจัดการการค้าสมัยใหม่
· หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์
· หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต (นศ.บ.) สาขาวิชานิเทศศาสตร์
· แขนงวิชาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์
· แขนงวิชาการสื่อสารสื่อใหม่
· หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต (นศ.บ.) สาขาวิชาดิจิทัลมัลติมีเดีย
· ระดับบัณฑิตศึกษา
· หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม.) สาขาวิชาบริหารธุรกิจ
· หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (นศ.ม.) สาขาวิชานิเทศศาสตร์
· หลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฏีบัณฑิต (นศ.ด.) สาขาวิชานิเทศศาสตร์
ปรัชญา
บัณฑิตเชี่ยวชาญทักษะ มีจิตสาธารณะ สร้างสรรค์สังคม
วิสัยทัศน์
คณะวิทยาการจัดการมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญทักษะและมีความสร้างสรรค์ด้านบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มีจิตสำนึกและจิตสาธารณะ มุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพในท้องถิ่นและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
พันธกิจ
1. ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญและความสร้างสรรค์ด้านบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มีจิตสำนึกและจิตสาธารณะ
มุ่งเน้นการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพในท้องถิ่นและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
2. มุ่งผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่นและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
3. ธำรงรักษา สร้างสรรค์คุณค่า สืบทอด และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของท้องถิ่น
4. บริการวิชาการและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อบูรณาการงานวิจัย การจัดการเรียนการสอน และพันธกิจของคณะ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
5. พัฒนาคณะให้มีความโดดเด่นในศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ โดยใช้นวัตกรรมในการบริหารจัดการ เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้แก่ท้องถิ่น และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
เอกลักษณ์คณะ
คณะแห่งนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์เพื่อท้องถิ่น
อัตลักษณ์บัณฑิต
เป็นนวัตกรมืออาชีพด้านบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ รู้เท่าทันเทคโนโลยี ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
วัฒนธรรมองค์กร
องค์กรแห่งการเรียนรู้ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และร่วมมือพัฒนาท้องถิ่น